โรคหอบหืด (Asthma) สาเหตุที่เป็นโรคหอบหืดและการรักษา

โรคหอบหืด (ภาษาอังกฤษ : Asthma) หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “โรคหอบหืด” คือ โรคที่เกิดจากการหดตัวหรือตีบแคบของระบบทางเดินหายใจเป็นครั้งคราว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่ส่วนมากจะไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้นในรายที่เป็นมากหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นถาวรหรือทำเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

โรคหอบหืด (Asthma)

โรคหอบหืดเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังชนิดหนึ่ง (ไม่ใช่โรคติดต่อ) ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เช่น ในเด็กทำให้เกิดการพัฒนาช้า เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาได้อย่างเป็นปกติ ยิ่งเมื่อสภาพอากาศเกิดการแปรปรวนหรือมีมลภาวะเป็นพิษมากเท่าไหร่ ผู้ป่วยยิ่งได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตมากขึ้นและส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองและเตรียมพร้อมรับมือกับอาการกำเริบที่อาจเกิดขึ้นและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีโอกาสเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่มีความชุกสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 10-12 ปี ในวัยเด็กจะพบในเด็กชายได้มากกว่าเด็กหญิงประมาณ 1.5-2 เท่า ส่วนใหญ่มักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่อายุก่อน 5 ปี มีส่วนน้อยที่เกิดอาการขึ้นครั้งแรกในวัยหนุ่มสาวและวัยสูงอายุ ในบ้านเราโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย และคาดว่าจะมีผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน โดยพบในเด็กมากถึง 10-12% ของเด็กทั้งหมด ส่วนในผู้ใหญ่พบได้ประมาณ 6.9% (เคยมีการสำรวจนักเรียนในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีความชุกของโรคนี้อยู่มากถึง 4-13%) และทั่วโลกพบว่าโรคนี้มีแนวโน้มเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษและสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงวิถีชีวิตที่ส่งเสริมให้เกิดโรคนี้ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ 66,679 คนในปี พ.ศ.2538 เป็น 102,273 คนในปี พ.ศ.2552 ส่วนผู้เสียชีวิตจาก 806 คนในปี พ.ศ.2540 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,697 คนในปี พ.ศ.2546 ด้วยเช่นกัน (องกรณ์อนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคหอบหืดทั่วโลกสูงมากกว่า 300 ล้านคน)

สาเหตุที่เป็นโรคหอบหืด

โรคนี้เกิดจากปัจจัยร่วมกันหลายประการ ทั้งทางด้านกรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดเลือด ทำให้หลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้มากกว่าคนปกติจนเป็นเหตุทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม เกิดการบวมของเนื้อเยื่อผนังหลอดลม และมีเสมหะมากในหลอดลม จึงมีผลโดยรวมคือทำให้หลอดลมตีบแคบลงเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นชนิดผันกลับได้ (Revesible) ซึ่งสามารถกลับคืนเป็นปกติได้เองหรือภายหลังจากการใช้ยา

ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่องนานเป็นแรมปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โครงสร้างของหลอดลมจะค่อย ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงจนในที่สุดมีความผิดปกติ (Airway remodeling) ชนิดไม่ผันกลับ (Irreversible) ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผิวหนังจากภูมิแพ้ และมักมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้องเป็นหืดหรือโรคภูมิแพ้อื่น ๆ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากขึ้นด้วย ได้แก่ ทารกที่มีมารดาสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์, ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย, การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณมากตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรก, เด็กที่อาศัยในบ้านที่พ่อหรือแม่สูบบุหรี่, การติดเชื้อไวรัสตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสอาร์เอสวี เป็นต้น

การรักษาโรคหอบหืด

เมื่อมีอาการต้องสงสัยดังกล่าวก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เมื่อไปพบแพทย์สิ่งที่แพทย์จะให้การดูแลรักษาก็คือ

  1. เมื่อมีอาการหอบหืดกำเริบฉับพลัน ให้สูดยากระตุ้นเบต้า 2 ทันที แต่ถ้าไม่มียาชนิดสูดแพทย์จะฉีดยากระตุ้นเบต้า 2 เข้าใต้ผิวหนังแทน ถ้าอาการของผู้ป่วยยังไม่ทุเลาแพทย์จะให้ยาสูดหรือยาฉีดดังกล่าวซ้ำได้อีก 1-2 ครั้ง ทุก 20 นาที เพราะสิ่งสำคัญอย่างแรกคือการรักษาและควบคุมโรคให้ทันและเร็วที่สุดเมื่อมีอาการ หากผู้ป่วยรู้สึกหายดีแล้ว แพทย์จะทำการประเมินอาการ สาเหตุกระตุ้น และประวัติการรักษาของผู้ป่วยรายนั้นอย่างละเอียด โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
    • ในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งมีอาการครั้งแรกและไม่เคยได้รับยารักษามาก่อน แพทย์จะเริ่มให้การรักษาขั้นที่ 2 และถ้ามีอาการรุนแรงจะเริ่มให้การรักษาขั้นที่ 3 ดังตารางด้านล่าง และแพทย์จะส่งตรวจสมรรถภาพปอด ให้สุขศึกษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้นต่าง ๆ และวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง แล้วแพทย์จะติดตามผู้ป่วยทุก 1-3 เดือน เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป (ดูเพิ่มเติมในข้อ 4)

ตารางขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยโรคหอบหืดในผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 5 ปี

การรักษา|ขั้นที่ 1|ขั้นที่ 2|ขั้นที่ 3|ขั้นที่ 4|ขั้นที่ 5 ให้ยาควบคุมโรค|ไม่จำเป็นต้องใช้|ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำ หรือ ยาต้านลิวโคทรีนชนิดกิน|ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำร่วมกับยาสูดกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์นาน หรือ ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดต่ำร่วมกับยาต้านลิวโคทรีนชนิดกิน หรือ ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ขนาดต่ำร่วมกับยากินทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์นาน หรือ ใช้ยาสูดสเตียรอยด์ในขนาดสูง|ให้ยาสูดสเตียรอยด์ขนาดปานกลางถึงสูงร่วมกับยาสูดกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์นาน แต่ถ้าไม่ได้ผล แพทย์อาจเพิ่มยาขนานใดขนานหนึ่งหรือมากกว่า คือ ยาต้านลิวโคทรีนชนิดกิน, ยากินทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์นาน|ให้ยาแบบเดียวกับขั้นที่ 4 แต่เพิ่มยาขนานใดขนานหนึ่งหรือมากกว่า คือ ยากินสเตียรอยด์ในขนาดต่ำ, การฉีดยาต้านไอจีอี

ให้ยาบรรเทาอาการ ทั้งขั้นที่ 1-5 แพทย์จะให้สูดยากระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้นเมื่อมีอาการ (อาจใช้ยาอื่นแทนได้ เช่น ยากินกระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้น, ยากินทีโอฟิลลีนชนิดออกฤทธิ์สั้น, ยาสูดไอพราโทรเพียมโบรไมด์ เป็นต้น) แต่ไม่แนะนำให้ยากระตุ้นเบต้า 2 เป็นประจำ ยกเว้นในกรณีที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์สูดเป็นประจำ

You Missed